สั่งเพิกถอนผู้แนะนำการลงทุน กรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต

24 เมษายน 2567
อ่าน 2 นาที

ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนผู้แนะนำการลงทุน กรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตและไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุนรายนางสาวศศกรณ์ ลิขิตสมบูรณ์ เป็นเวลา 6 ปี 9 เดือน กรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต โดยได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยมิชอบ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ โดยตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์โดยที่ผู้ลงทุนไม่ได้สั่ง ขณะกระทำผิดสังกัดบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 

ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าของ บล. เมย์แบงก์ และได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ระหว่างเดือนธันวาคม 2565 – มีนาคม 2566 นางสาวศศกรณ์มีพฤติกรรมการกระทำความผิดและทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย ดังนี้

(1) ชักชวนลูกค้าให้จองซื้อหุ้นของบริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) (MASTER) ที่จะเสนอขายต่อประชาชนในครั้งแรก (IPO) ซึ่ง บล. เมย์แบงก์ ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่จัดจำหน่ายหุ้นดังกล่าว โดยนางสาวศศกรณ์ให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง รวมเป็นเงิน 3 ล้านบาท แต่ไม่ได้จองซื้อหุ้น MASTER ให้และไม่คืนเงินแก่ลูกค้า 

(2) หลังจากหุ้น MASTER เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว นางสาวศศกรณ์ได้สั่งซื้อหุ้น MASTER ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า รวมเป็นเงิน 5.68 ล้านบาท โดยลูกค้าไม่ได้สั่งและไม่ยินยอม เมื่อลูกค้าทราบเรื่องจึงสั่งขายหุ้น MASTER ออกจากบัญชีทันที 

ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนางสาวศศกรณ์ตาม (1) เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยมิชอบ และตาม (2) เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ โดยตัดสินใจซื้อขายหุ้นให้ผู้ลงทุน โดยผู้ลงทุนไม่ได้สั่ง ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในตลาดทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน* ก.ล.ต. จึงเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1** และกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไปของนางสาวศศกรณ์ เป็นเวลา 6 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2567***

ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดโทษ ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาของ ก.ล.ต. ด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ก.ล.ต. ขอย้ำให้ผู้ลงทุนจองซื้อหุ้น IPO กับผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่จัดจำหน่ายเท่านั้น และไม่โอนเงินซื้อขายหลักทรัพย์เข้าบัญชีส่วนตัวของผู้แนะนำการลงทุน เพราะอาจเป็นช่องทางให้มีการทุจริตและอาจสูญเสียเงินจำนวนมากได้ กรณีมีข้อสงสัยควรติดต่อบริษัทผู้ให้บริการ หรือสอบถามได้ที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส” โทร. 1207 หรือ เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.
                                            ____________________
หมายเหตุ :
* การไม่ปฏิบัติตามข้อ 23(1) และข้อ 23(2) เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 31(1) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 48/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

** ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 หมายถึง ผู้แนะนำการลงทุนที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ไม่มีความซับซ้อนและผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนได้ทุกประเภท เช่น หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

*** หมายความว่า หากนางสาวศศกรณ์มายื่นคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในช่วงระยะเวลา 6 ปี 9 เดือน นับจากวันที่ 25 เมษายน 2567 ก.ล.ต. จะไม่รับพิจารณาคำขอดังกล่าวของนางสาวศศกรณ์